อัพเดท ปีที่26 ฉบับที่280 มกราคม2554 หน้าที่51
การบำบัดโรคพาร์กินสัน
ท่ากายบริหารดังกล่าวควรเริ่มทำทีละน้อยภายใต้การดูแลของนักกายภาพบำบัด และค่อยๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้นๆ จนกระทั่ง ผู้ป่วยสามารถบริหารได้ด้วยตนเองในที่สุด โดยเน้นให้ปฏิบัติสม่ำเสมอ จนเป็นปกตินิสัย เนื่องจาก ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะมีลักษณะเฉพาะที่เห็นได้ชัดคือ เวลาอยู่ในท่าทรงตัว ศีรษะ และลำตัวจะงุ้มไปข้างหน้า และเวลายืน สะโพกและเข่าจะงอ การแก้ไขลักษณะท่าทางของผู้ป่วยให้ถูกต้อง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และจำเป็น มิฉะนั้นแล้ว จะมีผลสืบเนื่อง ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยของร่างกาย และสูญเสียสมรรถภาพของการทรงตัวได้ง่าย ตลอดจนเกิดอาการกล้ามเนื้อยึดติดผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมักมีปัญหาในเรื่องการเดิน การฝึกการเดินด้วยท่าทางที่ถูกต้องนั้น ควรเริ่มตั้งแต่ก่อนออกเดิน โดยสอนให้ผู้ป่วยยืนยืดตัวตรงเสียก่อน ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่อาการเป็นมาก บางรายมีปัญหาตั้งแต่เมื่อแรกเริ่มจะออกเดิน กล่าวคือ มีอาการก้าวขาไม่ออกทั้งๆ ที่บางรายไม่มีปัญหาในเรื่องของการทรงตัวเลย ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องอาศัยวิธีการกระตุ้นการเริ่มออกเดิน ด้วยสิ่งเร้าทางสายตา เช่น เมื่อตื่นนอนขึ้นมาลุกจากเตียงจะออกเดิน หรือนั่งเก้าอี้ ลุกขึ้นยืนจะออกเดินให้กระตุ้นการเดิน โดยให้ผู้ป่วยก้าวข้ามสิ่งของบางอย่างที่วางอยู่ข้างหน้า อาจเป็นรองเท้า หรือขอบประตู หรือใช้ชอล์กขีดเส้นเอาไว้ หรือป้ายสีที่พื้นไว้ เพื่อให้สะดุดตา เมื่อผู้ป่วยเริ่มต้นการเดินด้วยการก้าวข้ามสิ่งต่างๆ ดังกล่าวแล้ว จึงสามารถเดินต่อไปได้ ดังนั้น ผู้ป่วยเหล่านี้ มักประสบปัญหาเวลาออกจากบ้านไปไหนมาไหน เพราะต้องคอยมองหาวัสดุที่พื้น เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการเดินต่อไป ทั้งนี้ ควรแนะนำให้ผู้ป่วยถือไม้เท้า เมื่อเริ่มจะออกเดิน ให้ใช้การสลับไม้เท้าเอาส่วได้นที่เป็นด้ามมือจับจิ้มลงบนพื้น ใช้มือจับส่วนปลาย ของไม้เท้า โดยให้ส่วนด้ามมือจับอยู่ตรงหน้าผู้ป่วย เพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยมองเห็น แล้วก้าวข้ามไปได้ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันส่วนใหญ่จะมีลักษณะการก้าวเท้าเดินที่เฉพาะตัว คือ เดินก้าวเท้าสั้นๆ แบบซอยเท้า โดยเฉพาะในระยะแรกเริ่ม การฝึกหัดเดินโดยมีลักษณะที่เป็นปกตินั้น ให้เดินหลังตรง เน้นการเดินเอาส้นเท้าลงก่อน อย่าใช้ปลายเท้า ก้าวเท้าเดินให้ยาวพอ อย่าก้าวสั้น ให้เท้าอยู่ห่างกันระยะประมาณ ๑๒ - ๑๕ นิ้ว ให้พอเหมาะ นอกจากนี้ ผู้ป่วยมักมีปัญหาในเรื่องของการหมุนตัว และทำได้ลำบาก เท้ามักจะพันกัน เวลาเดินไปๆ จะก้าวเท้าเร็วขึ้นๆ เรื่อยๆ และมักจะหยุดเดินทันทีทันใดไม่ได้ การหกล้มหน้าคะมำจึงเกิดขึ้นได้ง่าย การฝึกหัดต้องให้ผู้ป่วยเข้าใจ และรู้จักระมัดระวังตนเอง การหมุนตัวกลับจะต้องค่อยๆ ทำอย่างช้าๆ อย่าให้ขาพันกัน การขีดเขียนเครื่องหมายบนพื้น จะเป็นการกระตุ้นทางสายตา รวมทั้ง การใช้จังหวะของดนตรีจะกระตุ้นการเดินให้เป็นจังหวะและดีขึ้นการเคลื่อนไหวที่ช้าลง รวมทั้งการเกร็งของแขนและมือ ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ทำให้เกิดปัญหาในการทำกิจวัตรประจำวัน ตลอดจนกิจกรรมที่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนของมือ หรือนิ้วมือในการทำงาน และการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ เช่น การทำความสะอาดร่างกาย การแต่งตัว การรับประทานอาหาร ตลอดจนภารกิจการทำงานประจำวัน การปรับปรุง เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพของการทำงาน ที่ต้องอาศัยความละเอียดพิถีพิถัน ต้องเน้นการปรับปรุงคุณภาพความสามารถ ของการใช้มือ และนิ้วมือ ทั้งด้านความแม่นยำและความรวดเร็วในการทำงาน วิธีการรักษาส่วนใหญ่ ต้องอาศัยงานด้านกิจกรรมบำบัดเข้ามาช่วย เช่น อาจใช้การเล่นเกม การฝึกเขียนหนังสือ การวาดรูป งานฝีมือ ตลอดจน การฝึกใช้อุปกรณ์บางอย่าง เช่น ถุงทราย ผู้ฝึกการสอนซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมบำบัด จะต้องแนะนำ ชี้แจง แสดงให้ดู และให้มีการซักถาม ควรฝึกหัดทั้งกิจกรรมที่กระทำในบ้านและนอกบ้าน การฝึกผู้ป่วยเป็นกลุ่ม จะช่วยกระตุ้น ให้ทำตามซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ผู้ป่วยแต่ละคนควรมีโปรแกรมการฝึกที่ให้ไปฝึกหัดทำต่อที่บ้าน นอกเหนือจากที่มาขอรับการฝึกหัดที่โรงพยาบาล หรือคลินิกกิจกรรมบำบัดสัปดาห์ละ ๓ - ๕ วัน
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น